Page 13 - ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรม ต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ปลูกข้าวโพด บริเวณลุ่มน้ำแม่แจ่มตอนล่าง Climate Change and Hotspot Impact for Soil Fertility and Soil Erosion in Corn Acreage. Lower Part of Nam Mae Cham Basin Area.
P. 13
ห้องสมุดกรมพัฒนาที่ดิน
2
เผาซังข้าวโพดนั้นยังเป็นปัจจัยสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของปัญหาหมอกควันและปัญหาสุขภาพ
อันเนื่องมาจากการเผาไร่เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวโพดรอบใหม่ในแต่ละปี ไปจนถึงปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง
ลงสู่ที่ต่ำจนทำให้แม่น้ำลำห้วยตื้นเขิน ปัญหาดินถล่ม และปัญหาภัยแล้งอีกด้วย (สมเกียรติ, 2558)
จากสภาพปัญหาดังที่กล่าวมา จึงควรมีการศึกษาในเรื่องของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศ และการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการชะล้าง
พังทลายของดิน ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดบริเวณลุ่มน้ำสาขาแม่แจ่ม โดยประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศ
ภูมิศาสตร์ และ MMF Model เพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และเป็นแนวทางในการแก้ไข การบริหารจัดการใน
พื้นที่ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรดิน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อจัดทำฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านปริมาณน้ำฝน ความอุดมสมบูรณ์ของ
ดิน การชะล้างพังทลายของดิน และการเผาไหม้บริเวณพื้นที่ศึกษา
2. เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านปริมาณน้ำฝนต่อการชะล้าง
พังทลายของดินบริเวณพื้นที่ศึกษา
3. เพื่อศึกษาผลกระทบของการชะล้างพังทลายต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน บริเวณพื้นที่ศึกษา
4. เพื่อศึกษาผลกระทบของการเผาไหม้ต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน บริเวณพื้นที่ศึกษา
5. เพื่อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไข การปรับตัว การบริหารจัดการในพื้นที่ เพื่อความยั่งยืนของ
ระบบเกษตร ทรัพยากรดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริเวณพื้นที่ศึกษา
การตรวจเอกสาร
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) คือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ย (average
weather) ในพื้นที่หนึ่ง โดยลักษณะอากาศเฉลี่ย หมายถึง ลักษณะทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอากาศ เช่น
อุณหภูมิ ฝน ลม เป็นต้น (ในความหมายตามกรอบของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ FCCC
(Framework Convention on Climate Change) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศอันเป็นผลทางตรงหรือทางอ้อม จากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศ
เปลี่ยนแปลงไปนอกเหนือจากความผันแปรตามธรรมชาติ แต่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการ
เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ให้ความหมายไว้ว่า การ
เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะเนื่องมาจากความผันแปรตามธรรมชาติ
หรือกิจกรรมของมนุษย์ โดยกิจกรรมบางส่วนของมนุษย์นั้นสร้างก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ใน
บรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตาม
ธรรมชาติ และส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น คือ ภาวะโลกร้อน (Global warming) (กรมอุตุนิยมวิทยา,
ม.ป.ป.)
ผลการศึกษาการประเมินการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงในช่วงทศวรรษ
ค.ศ. 2030 ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงฤดูแล้ง ส่วนทาง
ภาคตะวันออกจะมีปริมาณฝนลดลง ทั้งนี้คาดว่าปริมาณฝนรายปีโดยรวมทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้น เนื่องจาก