Page 12 - ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรม ต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ปลูกข้าวโพด บริเวณลุ่มน้ำแม่แจ่มตอนล่าง Climate Change and Hotspot Impact for Soil Fertility and Soil Erosion in Corn Acreage. Lower Part of Nam Mae Cham Basin Area.
P. 12
ห้องสมุดกรมพัฒนาที่ดิน
1
หลักการและเหตุผล
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงอย่างมากจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงและ
ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เพราะต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติและผลผลิตในการดำรงชีวิตของ
ประชากรและการพัฒนาประเทศ เช่น ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งในปัจจุบัน
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ ได้แก่
ภาวะภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนสภาวะความรุนแรงของอุณหภูมิและคลื่นความร้อน ที่นับวันจะทวี
ความรุนแรงและมีความถี่ของการเกิดบ่อยครั้งขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน
สภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นับเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี (แสงจันทร์ และคณะ, 2553)
ปัญหาเรื่องการเผาเศษวัสดุในพื้นที่เกษตรกรรม อันทำให้เกิดหมอกควันพิษและมลภาวะ
ทางอากาศ เป็นปัญหาที่พื้นที่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยต้องประสบทุกปี โดยเฉพาะในช่วง
ฤดูร้อนเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อทรัพยากรดิน เป็นการทำลายโครงสร้างดิน
จุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ในดิน เนื่องจากความร้อนจากการเผาทำให้โครงสร้างดิน
เปลี่ยนแปลงไป เนื้อดินจับตัวแน่นและแข็ง ทำให้รากพืชแคระแกร็น ไม่สมบูรณ์ และความสามารถในการ
หาอาหารของรากพืชลดลง รวมถึงมีผลทำให้เชื้อโรคพืชสามารถเข้าทำลายได้ง่าย สูญเสียอินทรียวัตถุและ
ธาตุอาหารในดิน เมื่ออินทรียวัตถุในดินถูกเผาจะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูญเสียไปใน
บรรยากาศ ส่วนธาตุอาหารจะแปรสภาพให้อยู่ในรูปที่สามารถสูญเสียไปจากดินได้ง่าย ทำลายจุลินทรีย์
และแมลงที่เป็นประโยชน์ในดิน ทำให้ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินลดลง สูญเสียน้ำในดิน ทำให้
ความชื้นของดินลดลงหรือดินแห้งแข็งมากขึ้น (สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 7, 2558)
อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,733.26 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่
1,708,289 ไร่ อยู่ในลุ่มน้ำหลัก 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำสาละวิน โดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาที่
ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอ คือลุ่มน้ำแม่แจ่มตอนล่าง และลุ่มน้ำแม่แจ่มตอนบน โดยมีพื้นที่
859,160 และ 845,843 ไร่ ตามลำดับ (สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่, 2558) อำเภอแม่แจ่ม มีพื้นที่
เพาะปลูกกว่า 1 แสนไร่ โดยพื้นที่ส่วนมากปลูกข้าวโพดทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวโพดถอดดอกที่นำไป
เป็นเมล็ดพันธุ์มีผลผลิตเป็นจำนวนมากถึง 97,966.9 ตัน และมีเศษตอซังข้าวโพดเหลืออยู่จำนวนมากถึง
ประมาณ 22,400 ตัน ฤดูกาลเพาะปลูกจะเริ่มจากต้นเดือนพฤษภาคม และเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือน
กันยายนเป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพลาดชันตามแนวภูเขา ต้องอาศัย
น้ำฝนตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว เกษตรกรมักทิ้งซังและตอซังต้นข้าวโพดไว้ให้
แห้งเองด้วยแสงแดดช่วงฤดูร้อน จากนั้นจึงจะเผาในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี เพราะทำได้
รวดเร็วและประหยัดต้นทุนมากที่สุด การที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้สะดวกต่อการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกสำหรับ
ฤดูกาลต่อไป การเผาจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ (สุชน, 2557) จากข้อมูล
สถิติการเกิดไฟป่า (ส่วนควบคุมไฟป่า, 2558) ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 19 มีนาคม พ.ศ. 2558
ฮอตสปอต (Hotspot) ตรวจพบจุดความร้อนจากการเผาไหม้ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม 319 จุด สูงกว่า
อำเภออื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ จนทำให้เกิดมลพิษปัญหาหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของ
ประชาชนอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงที่เกษตรกรเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ผลกระทบการ