Page 9 - อิทธิพลจากการเผาต่อระบบการปลูกข้าวโพด และคาร์บอนในดินบนพื้นที่สูง จังหวัดเชียงใหม่ Effects of Burning on Maize Production Systems and Soil Carbon on Upland in Chiang Mai Province.
P. 9

ห้องสมุดกรมพัฒนาที่ดิน


                                                                                                            4

                                                         การตรวจเอกสาร

                   1. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

                          ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีชื่อสามัญว่า Maize หรือ Corn และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea mays L. เป็นพืชที่อยู่ใน
                   ตระกูลหญ้า (Family Gramineae) ซึ่งจัดอยู่ใน Tribe Maydeae ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชวันสั้นซึ่งมีกระบวนการ
                   สังเคราะห์ด้วยแสงแบบพืช C4 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งปัจจุบันประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูก
                   เป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถปลูกได้ทั้งต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝนข้าวโพดพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย มีอายุ
                   เก็บเกี่ยวระหว่าง 100 - 120 วัน การเก็บเกี่ยวควรเก็บเมื่อข้าวโพดแก่เต็มที่กาบหุ้มฝักแห้งใบแห้ง (เมล็ดควรมี
                   ความชื้นไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเก็บเกี่ยว) ทำได้ทั้งใช้แรงงานคนหรือใช้เครื่องเก็บเกี่ยว (กรมส่งเสริมการเกษตร,
                   2553)

                          1.1 สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและความต้องการของพืช (Crop Requirement)
                              1) สภาพพื้นที่ ข้าวโพดจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ดอน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำดี
                   สภาพดินไม่เป็นกรดหรือด่างมากเกินไป สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมควรเป็นพื้นที่ดอนหรือที่ลุ่มไม่มีน้ำขัง มีความสูงจาก
                   ระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร และความลาดเอียงไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์
                              2) ลักษณะดิน ข้าวโพดสามารถขึ้นในดินเกือบทุกชนิดแต่จะให้ผลผลิตต่างกันในแต่ละชนิดดิน
                   ลักษณะเนื้อดินควรเป็นดินร่วนถึงดินเหนียวที่ง่ายต่อการเตรียมดินและการเก็บกักความชื้น 14 เปอร์เซ็นต์ มีการ
                   ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี ระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพความลึก
                   ของหน้าดินประมาณ 60 เซนติเมตร สามารถปลูกได้ในดินที่มีสภาพเป็นกรดจัดถึงดินที่มีลักษณะเป็นด่างอ่อนๆ ถ้ามี
                   การให้ธาตุอาหารเสริมอย่างเพียงพอและให้ผลผลิตที่ดีในช่วงที่มีสภาพ pH 6-7 ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวโพด
                   ควรมี pH ระหว่าง 5.5-8 และมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางมีอินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่า 1.0 เปอร์เซ็นต์

                              3) สภาพภูมิอากาศ ข้าวโพดสามารถปลูกได้ผลดีที่สุดในเขตอบอุ่น (Temperate zone) คือระหว่าง
                   เส้นแวงที่ 30–40 เหนือและใต้ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ย 25–35 องศา
                   เซลเซียส ข้าวโพดสามารถทนอยู่ในช่วงสั้นๆ ที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส และที่อุณหภูมิมากกว่า 45 องศาเซลเซียส
                   อุณหภูมิที่ปลูกข้าวโพดได้มีช่วงกว้างระหว่าง 10-40 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงปลูกข้าวโพดได้ตลอดปีและเกือบทุก
                   ภาคของประเทศไทย อุณหภูมิต่ำสุดที่ใช้ในการงอกของเมล็ดคือ 10 องศาเซลเซียสข้าวโพดเติบโตได้เมื่อความยาว
                   แสงไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง และไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง
                          1.2 ฤดูปลูก ปลูกได้ทั้งต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และปลายฤดูฝนระหว่างเดือน

                   กรกฎาคม-สิงหาคม ปลูกในช่วงระยะเวลาใดเกษตรกรควรคำนึงถึงช่วงที่ข้าวโพดออกดอก ประมาณ 50 วันหลังปลูก
                   ต้องมีน้ำเพียงพอและช่วงเก็บเกี่ยวไม่ควรตรงกับช่วงฝนตกชุก
                          1.3 การปลูกและดูแลรักษา
                              1) การเตรียมดิน ควรมีการไถ 2 ครั้ง ระยะห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ ครั้งแรกไถดะหรือไถบุกเบิก
                   (ผาล 3) ครั้งที่ 2 เป็นการไถพรวน (ผาล 7)
                              2)  ระยะปลูกที่เหมาะสม ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร และระหว่างหลุม 20-25 เซนติเมตร หลุม
                   ละ 1 ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 3 กิโลกรัมต่อไร่
                              3)  การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือใส่ปุ๋ย 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของดิน ดังนี้
                                  (1) ดินเหนียวสีแดง ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมปลูก และเมื่อข้าวโพดมี

                   อายุ ประมาณ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่
                                  (2) ดินเหนียวสีดำ ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 50
                   กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 1 เดือน
                                  (3)  ดินทราย ดินร่วนทราย ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมปลูก และเมื่อ
                   ข้าวโพดมีอายุ 20-25 วัน ใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่
                   ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงบำรุงดินทุก ๆ 3-4 ปี โดยใส่อัตรา 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่
   4   5   6   7   8   9   10   11   12   13   14