Page 7 - ผลของระยะเก็บเกี่ยวและการลดความชื้นต่อความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ปอเทือง Effects of Harvest Stages and Dehumidification on Germination and Vigor of Sunn hemp (Crotalaria juncea) Seeds
P. 7

ห้องสมุดกรมพัฒนาที่ดิน

                                                                                                            6


                            2.1 การลดความชื้นด้วยเครื่องอบที่อุณหภูมิต่ำ (low temperature drier) เป็นการลดความชื้นโดยการ

               เป่าลมหรือผ่านอากาศเข้าสู่เมล็ด เป็นการเพิ่มอัตราการไหลของอากาศโดยไม่มีการเพิ่มอุณหภูมิ วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่
               สิ้นเปลืองพลังงานในการเพิ่มอุณหภูมิ เมล็ดพันธุ์ไม่ได้รับอันตรายจากความร้อน และไม่พบปัญหาเมล็ดแห้งจนเกินไป
                            2.2 การลดความชื้นด้วยเครื่องอบที่อุณหภูมิปานกลาง หลักการคือเป่าลมอุณหภูมิปานกลาง (30-50
               องศาเซลเซียส) ผ่านชั้นของเมล็ดพันธุ์ที่มีความหนาแน่นไม่มากหรือน้อยเกินไป วิธีการนี้จะต้องมีความรู้ในการจัดการจึงจะ
               อบเมล็ดพันธุ์ได้ผลดี และจำเป็นต้องทราบความชื้นเริ่มต้นของเมล็ดพันธุ์เพื่อพิจารณาปรับระดับอุณหภูมิให้เหมาะกับ
               ความชื้นเมล็ด
                            2.3 การลดความชื้นด้วยเครื่องอบที่อุณหภูมิสูง คือการอบที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส วิธีการนี้
               ไม่เหมาะกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากทำลายความงอกของเมล็ด แต่มักจะใช้กับเมล็ดพืชที่ใช้บริโภคหรืออุตสาหกรรม
               อาหารสัตว์

               การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์
                           การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ที่ดีจะต้องมีการสูญเสียน้อยทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ มีเมล็ดพันธุ์
               ตกหล่นสูญหายน้อย เมล็ดแตกหักและบอบช้ำน้อย เมล็ดมีความชื้นพอเหมาะ และมีความงอกและความแข็งแรงสูง การ
               เก็บเกี่ยวสามารถทำได้ตั้งแต่ระยะแก่ทางสรีรวิทยาเป็นต้นไป ผู้เก็บจะต้องทราบระยะเวลาที่เหมาะสม และสามารถแยก
               เมล็ดออกจากต้นได้โดยปราศจากความเสียหาย หลักการสำคัญในการเก็บเกี่ยวเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์คือ ต้องเก็บเกี่ยว
               ในทันทีที่ความชื้นเมล็ดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ปล่อยให้ความชื้นเมล็ดขึ้นลงแปรปรวนตามสภาพอากาศ ซึ่งจะ
               ทำให้เมล็ดเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว

                           1. การเก็บเกี่ยวที่ระยะแก่ทางสรีรวิทยา (physiological maturity)
               เป็นระยะที่เมล็ดมีน้ำหนักแห้งสูงสุด แม้ว่าสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาบางประการยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่การ
               สะสมองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นภายในเมล็ดได้สิ้นสุดลงแล้ว เนื้อเยื่อของท่อลำเลียงที่ขั้วเมล็ดไม่สามารถลำเลียง
               อาหารได้อีกต่อไป หลังจากนี้น้ำหนักแห้งของเมล็ดจะคงที่หรืออาจลดลงเล็กน้อยขึ้นอยู่กับระดับความชื้นของเมล็ดและ
               อุณหภูมิของอากาศ ในระยะนี้โดยทั่วไปเมล็ดจะยังคงมีความชื้นสูง 30-60% การปล่อยให้เมล็ดอยู่บนต้นพืชต่อไป
               นอกจากผลผลิตจะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว เมล็ดอาจได้รับความเสียหายจากสาเหตุหลายประการ เช่น การหักล้ม การแตกของฝัก
               เมล็ดงอกคาต้น การทำลายของนก หนู การระบาดของโรคและแมลง รวมทั้งสภาพดินฟ้าอากาศที่จะเร่งการเสื่อมของ

               เมล็ดพันธุ์  ในพืชบางชนิดเมล็ดที่พัฒนามาถึงระยะนี้มีลักษณะบ่งชี้คือพบ black layer ที่ขั้วของเมล็ด มีการรายงานว่า
               การเก็บเกี่ยวเมล็ดของพืชบางชนิด เช่น ข้าว  ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ทานตะวัน ที่ระยะนี้จะทำให้เมล็ดมีความสามารถในการ
               เก็บรักษาสูงที่สุด (วันชัย, 2542)
                           2. การเก็บเกี่ยวที่ระยะแก่เก็บเกี่ยว (Harvesting maturity)
               เป็นระยะที่ระบุอย่างคร่าวๆ ด้วยความชื้นหรือช่วงเวลาหลังระยะแก่ทางสรีรวิทยาหรือประมาณ 1- 2 สัปดาห์หลังระยะแก่

               ทางสรีรวิทยา โดยทั่วไปเมล็ดมีความชื้นประมาณ 14-20% การเก็บเกี่ยวระยะนี้เป็นระยะที่เหมาะสมในทางปฏิบัติและ
               เป็นที่นิยมทำกันโดยทั่วไป เป็นระยะที่ประหยัด เสียค่าใช้จ่ายในการอบลดความชื้นน้อย แต่ข้อจำกัดของการเก็บเกี่ยว
               เมล็ดในระยะนี้คือ สภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมหลังระยะแก่ทางสรีรวิทยา เช่น  ฝนตกชุก อุณหภูมิสูงจัด และศัตรู
               เมล็ดพันธุ์ ซึ่งส่งผลต่อความมีชีวิตและคุณภาพของเมล็ด ดังเช่น การศึกษาในถั่วเหลืองพบว่าหากฝนตกขณะเก็บเกี่ยวแม้
               เพียงครั้งเดียว หรือเมล็ดแก่ในช่วงที่อุณหภูมิสูงจัด ส่งผลต่อความงอกของเมล็ดทันที (ธนีนาฏและคณะ 2521; อนงค์,
               2531) ดังนั้นการเก็บเกี่ยวที่ระยะแก่เก็บเกี่ยว ควรวางแผนที่ดีก่อนปลูกให้เก็บเกี่ยวได้ในช่วงที่สภาพอากาศเหมาะสม
   2   3   4   5   6   7   8   9   10   11   12