Page 6 - กฎบัตรดินโลก (ฉบับปรับปรุง) : แปลจากเอกสารเผยแพร่ เรื่อง "Revised World Soil Chartar" ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization (FAO) of the United Nations)
P. 6
4
อารัมภบท
1. ดินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่การกระทำของมนุษย์ตั้งแต่อดีต
จนถึงปัจจุบันได้ก่อให้เกิดแรงกดดันต่อทรัพยากรดินเพิ่มมากขึ้นจนเกินขีดจำกัด ดังนั้น การจัดการ
ทรัพยากรดินอย่างระมัดระวังนับเป็นปัจจัยสำคัญของการเกษตรอย่างยั่งยืน และเป็นแนวทางที่มีประโยชน์
ต่อการควบคุมสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงการปกป้องและสร้างความสมดุลของนิเวศบริการ
และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ต่างๆ
2. รายงานผลของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริโอเดอจาเนโร
(Rio de Janeiro) ประเทศบราซิล ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ภายใต้หัวข้อ “The Future We Want”
ได้ตระหนักถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของการจัดการที่ดินที่ดี โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความหลากหลายทางชีวภาพ การเกษตรอย่างยั่งยืนและความมั่นคง
ทางด้านอาหาร การขจัดความยากจน การเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิง การจัดการกับ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับปรุงน้ำที่สามารถใช้ประโยชน์ได้
หลักการ
3. ดินเป็นทรัพยากรหลักที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นองค์ประกอบ
ของระบบนิเวศและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ การบำรุงรักษาหรือเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรดินทั่วโลก
จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น หากแต่ความต้องการด้านอาหาร น้ำ และความมั่นคงด้านพลังงานของมนุษยชาติ
เป็นไปตามสิทธิอธิปไตยของแต่ละรัฐที่มีต่อต่อทรัพยากรธรรมชาติของรัฐนั้นๆ ทั้งนี้คาดการณ์ว่า
ความต้องการผลิตอาหาร เส้นใย และเชื้อเพลิงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคง
ทางด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเพิ่มแรงกดดันให้กับทรัพยากรดิน
4. ดินเป็นผลลัพธ์ของกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ของกระบวนการต่างๆ ที่มีความซับซ้อนในช่วงเวลาใดๆ
ณ พื้นที่หนึ่ง ดินจึงมีความหลากหลายในรูปแบบ คุณสมบัติ และระดับของระบบนิเวศบริการของดิน
ด้วยเหตุนี้การบริหารจัดการทรัพยากรดินที่ดีนั้นต้องเข้าใจในสมรรถนะที่แตกต่างกันของดิน
และการใช้ประโยชน์ที่ดินควรสอดคล้องกับสมรรถนะที่แตกต่างกันเหล่านั้นเพื่อวัตถุประสงค์
ในการขจัดความยากจนและบรรลุความมั่นคงด้านอาหาร