Page 4 - การประเมินผลการจัดงานวันดินโลก ปี 2565 "Soils, Where food begins : อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน"
P. 4

ห้องสมุดกรมพัฒนาที่ดิน

                                                                                                       (3)




                   3. ความพึงพอใจต่อการจัดงานวันดินโลก

                          จากผลการประเมิน พบว่า ผู้ตอบแบบประเมินมีความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด

                   ด้วยค่าคะแนนเฉลี่ย 4.63 โดยเมื่อทำการทดสอบสมมติฐานเพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปร
                   ด้วย Chi-square และ One-way ANOVA พบว่า ผู้เข้าร่วมงานที่มีอายุ สถานภาพ และระดับการศึกษา
                   ที่แตกต่างกัน จะมีความคิดเห็นหลังเข้าร่วมงานวันดินโลก ความชื่นชอบนิทรรศการ/กิจกรรม การนำความรู้
                   ที่ได้รับจากการเข้าร่วมชมงานไปใช้ประโยชน์ และความพึงพอใจต่อการจัดงานวันดินโลก ที่แตกต่างกัน

                   ยกเว้นความพึงพอใจด้านการประเมินผล ซึ่งพบว่า ผู้เข้าร่วมงานที่มีสถานภาพแตกต่างกัน จะมีความพึงพอใจ
                   ต่อการประเมินผลที่ไม่แตกต่างกัน โดยผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
                   และภายหลังจากเข้าร่วมงาน ผู้ตอบแบบประเมินจะนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ทำการเกษตรในพื้นที่
                   ของตนเอง ใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงาน นำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่สนใจ และนำไปพัฒนา

                   แผนงาน/โครงการในพื้นที่ สำหรับความพึงพอใจของผู้ตอบแบบประเมินที่เข้าร่วมกิจกรรมเดินเทรล
                   ซึ่งมีจำนวน 231 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.71 ของผู้ตอบแบบประเมินทั้งหมด พบว่า ผู้ตอบแบบประเมิน
                   มีความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด

                          ในส่วนของผลการประเมินความพึงพอใจนิทรรศการมีชีวิต จุด Check in จำนวน 5 จุด
                   ซึ่งเป็นการประเมินผลความพึงพอใจ 3 ระดับ คือ มาก ปานกลาง และน้อย จากผลการประเมินพบว่า

                   ผู้ตอบแบบประเมินมีความพึงพอใจในทุกจุดอยู่ในระดับมาก โดยผู้เข้าร่วมงาน Check in และตอบแบบ
                   ประเมินผลความพึงพอใจ จุดที่ 1 เทคโนโลยีการผลิตองุ่นและเสาวรสปลอดภัย มากที่สุด รองลงมา จุดที่ 2
                   แปลงผักบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง จุดที่ 3 ข้าวสรรพสีปลอดภัย ด้วยนวัตกรรมที่ดิน จุดที่ 4 นวัตกรรม

                   จุลินทรีย์สู่การผลิตอาหารปลอดภัย และจุดที่ 5 ฐานการปรุงดิน ตามลำดับ สำหรับจุดที่ 5 ฐานการปรุงดิน
                   มีผู้ร่วมเช็คอินน้อยที่สุด เนื่องจาก มีจุดดึงดูดความสนใจน้อย มีเพียงการนำเสนอการปลูกผัก (แปลงผัก) เวที
                   และที่นั่งพัก ไม่มีเนื้อหาทางวิชาการหรือองค์ความรู้ และวิทยากรบรรยาย

                   4. ผลการประเมินโดยการสังเกตการณ์

                          จากการสังเกตการณ์ภาพรวมของนิทรรศการ“ดินดี อาหารอุดม ใต้ร่มพระบารมี” พบว่า
                   ช่วงวันแรกของงาน การตกแต่งสถานที่ยังไม่เรียบร้อย ทำให้ยังไม่มีความพร้อมให้ผู้เข้าร่วมงานเข้าเยี่ยมชม

                   นิทรรศการ จึงควรมีการวางแผนและปรับการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แล้วเสร็จก่อนวันเริ่มงาน
                   ในส่วนของนิทรรศการมีชีวิต พบว่า ผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจเข้าชมนิทรรศการต่าง ๆ เนื่องจาก
                   มีความสวยงาม ได้รับความรู้ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการทำเกษตร การใช้ชีวิตประจำวัน
                   และการเรียนได้ และจากการสัมภาษณ์ผู้แทนครูที่พานักเรียนเข้าร่วมชมงาน มีความคิดเห็นว่า นักเรียน

                   ให้ความสนใจนิทรรศการมีชีวิตมากกว่านิทรรศการกลาง เนื่องจากได้สังเกตและเรียนรู้จากวัสดุจริง
                   และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากร นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้มาศึกษาแนวทาง หรือข้อมูลวิชาการ
                   สำหรับทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนอีกด้วย สำหรับนิทรรศการสตรอว์เบอร์รี และกะหล่ำปลี
                   ในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ แบบผสมผสานและทุ่งปอเทือง หากมีผลผลิต เช่น ดอกหรือผล จะทำให้

                   ผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น นิทรรศการนวัตกรรมการเกษตร มีผู้ให้สัมภาษณ์บางท่านสะท้อนว่า
                   ผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการส่วนใหญ่เดินมาชมงานเอง โดยไม่มีมัคคุเทศก์พามา จึงทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมชม
                   นิทรรศการในจุดนี้ค่อนข้างน้อย ในส่วนของตลาดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ ผู้เข้าร่วมงาน

                   ให้ความคิดเห็นว่า ควรเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและร้านค้าให้มากขึ้น
   1   2   3   4   5   6   7   8   9