Page 6 - แนวทางการส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมตามฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุก Agri-Map จังหวัดพังงา
P. 6
ห้องสมุดกรมพัฒนาที่ดิน
1. ข้อมูลทั่วไป
จังหวัดพังงามีพื้นที่ 4,170.895 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,606,809 ไร่ ตั้งอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย
ประกอบด้วย 8 อำเภอ 48 ตำบล (ตารางผนวกที่ 1) มีจำนวนประชากร 268,229 คน
(กรมการปกครอง, 2563)
1.1 อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อ จังหวัดระนอง
ทิศใต้ ติดต่อ จังหวัดภูเก็ต และทะเลอันดามัน
ทิศตะวันออก ติดต่อ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่
ทิศตะวันตก ติดต่อ ทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย
1.2 ภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดพังงาเป็นภูเขาสลับซับซ้อนทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศเหนือ
ไปทางทิศใต้ พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าไม้ผลัดใบ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าชายเลน มีชายฝั่งทะเลยาว
239.25 กิโลเมตร โดยพื้นที่ราบอยู่ทางด้านตะวันออกแล้วค่อยลาดลงสู่ที่ราบชายฝั่งทะเลและ
ทะเลอันดามัน ด้านทิศตะวันตก ครอบคลุมเกาะน้อยใหญ่ที่กระจายอยู่มากกว่า 105 เกาะ เช่น เกาะยาว
หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เป็นต้น
1.3 ภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของจังหวัดพังงาเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน ได้รับอิทธิพลของลมมรสุม
ตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึง
เดือนเมษายน และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม จังหวัดพังงาอยู่ใกล้ทะเล
ฤดูร้อนจึงไม่ร้อนมาก ส่วนฤดูหนาวไม่ถึงกับหนาวจัด สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27.2 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.9 องศาเซลเซียส
1.4 ทรัพยากรดิน
ทรัพยากรดินจังหวัดพังงาแบ่งตามภูมิสัณฐาน ลักษณะทางธรณีวิทยาและวัตถุต้นกำเนิดดิน
ได้ดังนี้
1) หาดและเนินทราย (Beach and sand dune) พื้นที่หาดทราย เป็นพื้นที่ระหว่างแนว
น้ำทะเลขึ้นและน้ำทะเลลง มีลักษณะเป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคลื่น
และกระแสน้ำทะเล ส่วนพื้นที่เนินทรายหรือสันทรายเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะนูนเป็นโคกเตี้ย ๆ และ
เป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่งทะเล มีสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย การระบายน้ำ
ค่อนข้างมาก มีเนื้อดินเป็นดินทรายและมักมีเปลือกหอยปะปนอยู่ในดิน สีน้ำตาล น้ำตาลปนเหลือง
หรือเหลืองปนแดง เช่น ชุดดินบาเจาะ (Bc) ชุดดินหัวหิน (Hh) เป็นต้น
2) ที่ราบชายฝั่งทะเล (Coastal plain) เกิดจากคลื่นพัดพาและกระแสลมพัดพาเอาเศษ
วัตถุจากทะเล ทั้งโคลน กรวด ทราย และตะกอนต่าง ๆ เข้ามาทับถมบริเวณชายฝั่ง และลึกเข้าไปใน
แผ่นดินมากกว่าหาดทราย แบ่งเป็น
(1) พื้นที่น้ำทะเลขึ้นถึงในปัจจุบัน (Active tidal flats) เป็นพื้นที่ที่มีน้ำทะเลขึ้นถึง
ดินมีสีคล้ำ อินทรียวัตถุสูง และเป็นดินเค็ม (saline soil) ดินส่วนใหญ่มีศักยภาพที่ก่อให้เกิด